วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ขั้นตอนหลังการผลิต

5 ขั้นตอนหลังการผลิต (Post Production)

เป็นขั้นตอนการตัดต่อเรียบเรียงภาพและเสียงเข้าไว้ด้วยกันตามสคริปต์หรือเนื้อหาของเรื่อง ขั้นตอนนี้จะมีการใส่กราฟิกและเทคนิคพิเศษภาพ การเชื่อมต่อ ภาพ/ฉาก อาจมีการบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียง เพิ่มเติม อีกก็ได้ อาจมีการนำดนตรีมาประกอบ เรื่องราวเพื่อเพิ่มอรรธรสในการรับชมยิ่งขึ้น ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่จะดำเนินการอยู่ในห้องตัดต่อ มีเฉพาะ คนตัดต่อ (Editor) ผู้กำกับภาพยนตร์และช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ขั้นตอนการผลิต


4 ขั้นตอนการผลิต (Production)  
 เป็นขั้นตอนการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์(ออกกอง)ทีมงานผู้ผลิตได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์ ช่างภาพ ช่างไฟ ช่างเทคนิคเสียง ช่างศิลป์ ผู้แต่งหน้าทำผม ผู้ฝึกซ้อมนักแสดง รวมทั้งการบันทึกเสียงตามที่กำหนดไว้ในสคริปต์ ขั้นตอนนี้อาจมีการถ่ายทำแก้ไขหลายครั้งจนเป็นที่พอใจ (take) นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องเก็บภาพ/เสียงบรรยากาศทั่วไป ภาพเฉพาะมุมเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการขยายความ (insert) เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นและเข้าใจรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

ขั้นก่อนการผลิต

3 ขั้นก่อนการผลิต (Pre Production)
 
นับเป็นขั้นตอนที่มีความสาคัญเป็นอย่างยิ่งก่อนเริ่มทำการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่การเตรียมข้อมูล การกำหนดหรือเค้าโครงเรื่อง การประสานงาน กองถ่ายกับสถานที่ถ่ายทำ ประชุมวางแผนการผลิต การเขียนสคริปต์ การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์การถ่ายทำ อุปกรณ์การบันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียง ห้องตัดต่อ อุปกรณ์ประกอบฉาก อุปกรณ์แสง การเตรียม ทีมงาน ทุกฝ่าย การเดิน ทาง อาหาร ที่พัก ฯลฯ หากจัดเตรียมรายละเอียดในขั้นตอนนี้ได้ดี ก็จะส่งผลให้ขั้นตอนการผลิตทาได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นดังนั้น Pre Production เป็นขั้นตอนที่ผู้อำนวยการสร้างหรือนายทุนหนังส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเป็น อันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่มีส่วนอย่างมากที่จะชี้เป็นชี้ตายได้ว่าหนังจะออกมาดีหรือไม่ช่วง พรี-โพร จะเป็นช่วงที่หนังเริ่มก่อเค้าเป็นรูปเป็นร่างจากเรื่องที่ได้รับการอนุมัติสร้างจากนายทุน

บุคคลที่เกี่ยวของในขั้นตอนการเตรียมงานสร้างภาพยนตร์

2 บุคคลที่เกี่ยวของในขั้นตอนการเตรียมงานสร้างภาพยนตร์

1.       ผู้อำนวยการผลิต (Producer)
ผู้อำนวยการผลิตเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการผลิตภาพยนตร์ทั้งหมด นับตั้งแต่การวางแผน การถ่ายทำ หลังการถ่ายทำ เพื่อให้การผลิตภาพยนตร์เป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสมบูรณ์ที่สุด
2.       ฝ่ายกฎหมาย (Legal Department)
ฝ่ายกฎหมายทำหน้าที่ในการทำสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ ซึ่งได้แก่การทำสัญญาเช่าลิขสิทธ์ การเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ การทำประกันภัย ฯลฯ
3.       ผู้เขียนบทภาพยนตร์ (Script Writer)
ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ตามที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จ เมื่อเขียนบทเสร็จแล้วภาระหน้าที่ต่อไปก็คือการแก้ไขบท เมื่อแก้ไขบทจนเป็นที่พอใจของผู้ว่าจ้างแล้วภาระหน้าที่ของผู้เขียนบทก็หมดไป

4.       ผู้กำกับภาพยนตร์ (Film Director)
ผู้กำกับภาพยนตร์ มีหน้าที่ในการทำความเข้าใจบทภาพยนตร์ เลือกทีมงาน เลือกนักแสดง สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นผู้ที่ควบคุมงานผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดภายใต้การดูแล
ของผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์

เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ในประเทศไทย

5.       ผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ (Assistant Film Director)
ผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นกองถ่ายภาพยนตร์ทีมใหญ่ๆ จะมีผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ 2-3 คน ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน

ผู้กำกับภาพและผู้ช่วยกล้อง
      6.       ผู้กำกับภาพ (Director of Photography)
ผู้กำกับภาพจะประสานงานกับผู้กำกับภาพยนตร์ในการวางแผนการจัดแสงการออกแบบแสงและการวางมุมกล้องเพื่อการสิ่อความหมายด้วยภาพต่างๆ กองถ่ายหนังใหญ่ผู้กำกับภาพนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นช่างกล้องด้วย 

      7.       ช่างกล้อง (Camera Operator)
ช่างกล้องจะประสานงานกับผู้กำกับและผู้กำกับภาพในการถ่ายทำภาพยนตร์โดยการกำหนดการวางมุมกล้อง ขนาดภาพ การสื่อความหมายด้วยภาพซึ่งจะวางแผนล่วงหน้าในขั้นตอนเตรียมงานสร้างก่อนที่จะถ่ายจริง
      8.       ผู้กำกับศิลป์ (Art Director)
ผู้กำกับศิลป์ทำหน้าที่ในการไปหาสถานที่ ที่ถ่ายทำ ร่วมกับผู้ทำหน้าที่จัดหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ช่วยกำกับ ธุรกิจกองถ่าย ฯลฯ การออกแบบสร้างฉากตามยุคสมัยบรรยากาศตามเรื่องราวในบทภาพยนตร์
      9.       ผู้ช่วยกำกับศิลป์ (Asst. Art Director)
ผู้ช่วยผู้กำกับศิลป์ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้กำกับศิลป์ในการออกแบบฉากที่ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับศิลป์
      10.    ฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก (Properties Master)
ฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉากทำหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆเช่น จัดหา ตู้ โต๊ะ นาฬิกา ผ้าม่าน ฯลฯ ตามการออกแบบของฝ่ายศิลป์
11.    ฝ่ายสร้างฉาก
ฝ่ายสร้างฉากจะทำหน้าที่สร้างฉากตามที่ฝ่ายศิลป์ออกแบบ ภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะมีการถ่ายทำภาพยนตร์
12.    ผู้เขียนสตอรี่บอร์ด (Story Board Visualizer)
ผู้เขียนสตอรี่บอร์ด จะทำหน้าที่แปลงบทภาพยนตร์ให้เป็นภาพเขียน โดยกำหนด ขนาดภาพ มุมกล้อง การจัดองค์ประกอบภาพ ฯลฯ เพื่อให้ง่ายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยทั่วไปแล้วการเขียนสตอรี่บอร์ดนั้นจะเขียนเฉพาะฉากที่ถ่ายทำยากๆเท่านั้น เช่น ฉาก  aCtion ต่างๆซึ่งทีมงานที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้กำกับภาพยนตร์ ช่างกล้อง ผู้กำกับศิลป์ ฯลฯ พอเห็นภาพจากสตอรี่บอร์ดแล้วก็สามารถจะออกแบบทำงานตามหน้าที่ของตนได้ทันที
13.    ผู้ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (costume Designer)
ผู้ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทำหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับต่างๆ ของตัวละคร โดยคำนึงถึงยุคสมัย บุคลิกของตัวละคร โดยก่อนที่จะออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายนั้น ผู้ออกแบบนอกจะอ่านจากบทภาพยนตร์อย่างละเอียดแล้ว จะต้องเข้าร่วมประชุมกับผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับศิลป์ เพื่อทราบแนวคิดและกำหนดแนวทางของการออกแบบโทรและอารมณ์ของภาพยนตร์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
14.    ผู้จัดคิวเสื้อผ้าเครื่องแต่ง (WARDROBE)
ผู้จัดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทำหน้าที่จัดคิวเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักแสดงให้เป็นไปตามตารางการถ่ายทำภาพยนตร์ ตลอดจนดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้สามารถใช้งานได้ทันทีที่ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการ
15.    ผู้จัดการจัดหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ (Location Manager)
บุคลากรตำแหน่งนี้เพิ่งมีในกองถ่ายภาพยนตร์ไทยในระยะเวลาที่ไม่นานมานี้ เพราะก่อนหน้านี้ผู้กำกับ ผู้ช่วยกำกับ และผู้กำกับศิลป์ จะช่วยกันหาสถานที่ถ่ายทำ แต่เพราะความไม่สะดวก เพื่อให้การจัดหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงกำหนดให้มีตำแหน่งนี้ขึ้นมา
16.    ผู้คัดเลือกนักแสดง (casting)
ผู้คัดเลือกนักแสดง ทำหน้าที่คัดเลือกนักแสดงตามบุคลิกของตัวละครที่กำหนดไว้ในบทภาพยนตร์ ซึ่งการคัดเลือกนักแสดงนี้ผู้คัดเลือกนักแสดงจะต้องทำงานร่วมกับผู้อำนวยการผลิต ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ เป็นต้น


17.    ผู้ฝึกซ้อมนักแสดง (acting coach)
ผู้ฝึกซ้อมนักแสดง จะทำหน้าที่หลังจากที่คัดเลือกนักแสดงแล้ว บางกองถ่ายจะกำหนดให้มีการฝึกซ้อมนักแสดงก่อนที่จะมีการถ่ายทำภาพยนตร์ 2-3 เดือน เพื่อให้นักแสดงบางคนที่ยังไม่มีพื้นฐานทางการแสดงได้พัฒนา
ตนเอง สามารถที่จะแสดงภาพยนตร์ในขั้นตอนการถ่ายทำได้อย่างราบรื่น สำหรับนักแสดงที่มีประสบการณ์แล้วก็จะต้องมีการฝึกซ้อมการแสดงตามบทภาพยนตร์ เช่นเดียวกัน
18.    ธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์
ธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน ขอใช้ ขอเช่าสถานที่ถ่ายทำ ภาพยนตร์ การติดต่อนักแสดง การทำงบประมาณค่าใช้จ่ายรายวัน การจ่ายเงินแก่นักแสดงทีมงานตลอดจนทำบัญชีการใช้จ่ายในแต่ละวันเพื่อนำเสนอบริษัท

บุคลากรเหล่านี้จะต้องเข้ามาเตรียมงานที่บริษัท ก่อนที่จะลงมือสร้างภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์บางเรื่องจะใช้เวลาในการเตรียมงานประมาณ 1-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

การเขีัยนบทภาพยนตร์

1 ขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์

1.การค้นคว้าหาข้อมูล (research) เป็นขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์อันดับแรกที่ต้องทำถือเป็นสิ่งสำคัญหลังจาก 
เรา พบประเด็นของเรื่องแล้วจึงลงมือค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเสริมรายละเอียดเรื่อง ราวที่ถูกต้องจริงชัดเจน และมีมิติมากขึ้น คุณภาพของ  ภาพยนตร์จะดีหรือไม่จึงอยู่ที่การค้นคว้าหาข้อมูล ไม่ว่าภาพยนตร์นั้นจะมีเนื้อหาใดก็ตาม


2.การกำหนดประโยคหลักสำคัญ (premise) หมายถึงความคิดหรือแนวความคิดที่ง่าย ๆ ธรรมดา ส่วนใหญ่มักใช้ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นถ้า...” (what if) ตัวอย่างของ premise ตามรูปแบบหนังฮอลลีวู้ด เช่น เกิดอะไรขึ้นถ้าเรื่องโรเมโอ & จูเลียตเกิดขึ้นในนิวยอร์ค คือ เรื่อง West Side Story, เกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ดาวอังคารบุกโลก คือเรื่อง The Invasion of Mars, เกิดอะไรขึ้นถ้าก็อตซิล่าบุกนิวยอร์ค คือเรื่อง Godzilla, เกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์ต่างดาวบุกโลก คือเรื่อง The Independence Day, เกิดอะไรขึ้นถ้าเรื่องโรเมโอ & จูเลียตเกิดขึ้นบนเรือไททานิค คือเรื่อง Titanic เป็นต้น

3.
การเขียนเรื่องย่อ (synopsis) คือเรื่องย่อขนาดสั้น ที่สามารถจบลงได้ 3-4 บรรทัด หรือหนึ่งย่อหน้า หรืออาจเขียนเป็น story outline เป็นร่างหลังจากที่เราค้นคว้าหาข้อมูลแล้วก่อนเขียนเป็นโครงเรื่องขยาย (treatment)

4.
การเขียนโครงเรื่องขยาย (treatment) เป็นการเขียนคำอธิบายของโครงเรื่อง (plot) ในรูปแบบของเรื่องสั้น โครงเรื่องขยายอาจใช้สำหรับเป็นแนวทางในการเขียนบทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ บางครั้งอาจใช้สำหรับยื่นของบประมาณได้ด้วย และการเขียนโครงเรื่องขยายที่ดีต้องมีประโยคหลักสำหคัญ (premise) ที่ง่าย ๆ น่าสนใจ
5.บทภาพยนตร์ (screenplay) สำหรับภาพยนตร์บันเทิง หมายถึง บท (script) ซีเควนส์หลัก (master scene/sequence)หรือ ซีนาริโอ (scenario) คือ บทภาพยนตร์ที่มีโครงเรื่อง บทพูด แต่มีความสมบูรณ์น้อยกว่าบทถ่ายทำ (shooting script) เป็นการเล่าเรื่องที่ได้พัฒนามาแล้วอย่างมีขั้นตอน ประกอบ ด้วยตัวละครหลักบทพูด ฉาก แอ็คชั่น ซีเควนส์ มีรูปแบบการเขียนที่ถูกต้อง เช่น บทสนทนาอยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษฉาก เวลา สถานที่ อยู่ชิดขอบหน้าซ้ายกระดาษ ไม่มีตัวเลขกำกับช็อต และโดยหลักทั่วไปบทภาพยนตร์หนึ่งหน้ามีความยาวหนึ่งนาที

6.บทถ่ายทำ (shooting script) คือบทภาพยนตร์ที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเขียน บทถ่ายทำจะบอกรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทภาพยนตร์ (screenplay) ได้แก่ ตำแหน่งกล้อง การเชื่อมช็อต เช่น คัท (cut) การเลือนภาพ (fade) การละลายภาพ หรือการจางซ้อนภาพ (dissolve) การกวาดภาพ (wipe) ตลอดจนการใช้ภาพพิเศษ (effect) อื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเลขลำดับช็อตกำกับเรียงตามลำดับตั้งแต่ช็อตแรกจนกระทั่งจบ เรื่อง และขนาดภาพในการเขียน shooting script มีดังนี้

6.1ภาพระยะไกลมากหรือระยะไกลสุด (Extreme Long Shot / ELS)
ได้แก่ ภาพที่ถ่ายภายนอกสถานที่โล่งแจ้ง มักเน้นพื้นที่หรือบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาล เมื่อเปรียบ เทียบกับสัดส่วนของมนุษย์ที่มีขนาดเล็ก ภาพ ELS ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการเปิดฉากเพื่อบอกเวลาและสถานที่ อาจเรียกว่า Establishing Shot ก็ได้ เป็นช็อตที่แสดงความยิ่งใหญ่ของฉากหลัง
  
Extreme Long Shot

6.2 ภาพระยะไกล (Long Shot /LS)
ภาพระยะไกล เป็นภาพที่ค่อนข้างสับสนเพราะมีขนาดที่ไม่แน่นอนตายตัว บางครั้งเรียกภาพกว้าง (Wide Shot) เวลาใช้อาจกินความตั้งแต่ภาพระยะไกลมาก (ELS) ถึงภาพระยะไกล (LS) ซึ่งเป็นภาพขนาดกว้างแต่สามารถเห็นรายละเอียดของฉากหลังและผู้แสดงมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาพระยะไกลมาก หรือเรียกว่า Full Shot เป็นภาพกว้างเห็นผู้แสดงเต็มตัว ตั้งแต่ศีรษะจนถึงส่วนเท้า 

Long Shot


6.3 ภาพระยะไกลปานกลาง (Medium Long Shot / MLS)
เป็นภาพที่เห็นรายละเอียด ของผู้แสดงมากขึ้นตั้งแต่ศีรษะจนถึงขา หรือหัวเข่า ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า Knee Shot เป็นภาพที่เห็นตัวผู้แสดงเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับฉากหลังหรือเห็นเฟอร์นิเจอร์ ในฉากนั้น

Medium Long Shot

6.4 ภาพระยะปานกลาง (Medium Shot /MS)
ภาพระยะปานกลาง เป็นขนาดที่มีความหลากหลายและมีชื่อเรียกได้หลายชื่อเช่นเดียวกัน แต่โดยปกติจะมีขนาดประมาณตั้งแต่หนึ่งในสี่ถึงสามในสี่ของร่างกาย บางครั้งเรียกว่า Mid Shot หรือ Waist Shot ก็ได้ เป็นช็อตที่ใช้มากสุดอันหนึ่งภาพยนตร์

Medium Shot


6.5 ภาพระยะใกล้ปานกลาง (Medium Close-Up / MCU)
เป็นภาพแคบ คลอบคลุมบริเวณตั้งแต่ศีรษะถึงไหล่ของผู้แสดง ใช้สำหรับในฉากสนทนาที่เห็นอารมณ์ความรู้สึกที่ใบหน้า ผู้แสดงรู้สึกเด่นในเฟรม บางครั้งเรียกว่า Bust Shot มีขนาดเท่ารูปปั้นครึ่งตัว 

Medium Close-Up

6.6 ภาพระยะใกล้ (Close-Up / CU)
เป็นภาพที่เห็นบริเวณศีรษะและบริเวณใบหน้า ของผู้แสดง มีรายละเอียดชัดเจนขึ้น เช่น ริ้วรอยบนใบหน้า น้ำตา ส่วนใหญ่เน้นความรู้สึกของผู้แสดงที่สายตา แววตา เป็นช็อตที่นิ่งเงียบมากกว่าให้มีบทสนทนา โดยกล้องนำคนดูเข้าไปสำรวจตัวละครอย่างใกล้ชิด 

Close Up

 6.7 ภาพระยะใกล้มาก (Extreme Close-Up /ECU หรือ XCU)
เป็นภาพที่เน้นส่วนใด ส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ตา ปาก เท้า มือ เป็นต้น ภาพจะถูกขยายใหญ่บนจอ เห็นรายละเอียดมาก เป็นการเพิ่มการเล่าเรื่องในหนังให้ได้อารมณ์มากขึ้น

Extreme Close-Up

 6.8 มุมสายตานก (Bird's-eye view)
มุมชนิดนี้มักเรียกทับศัพท์ทำให้เข้าใจ มากกว่า เป็นมุมถ่ายมาจากด้านบนเหนือศีรษะ ทำมุมตั้งฉากเป็นแนวดิ่ง 90 องศากับผู้แสดง เป็นมุมมองที่เราไม่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน จึงเป็นมุมที่แปลก แทนสายตานกที่อยู่บนท้องฟ้า

Bird's-eye view


ตัวอย่าง Storyboard
7. บทภาพ (storyboard) คือ บทภาพยนตร์ประเภทหนึ่งที่อธิบายด้วยภาพ คล้ายหนังสือการ์ตูน ให้เห็นความต่อเนื่องของช็อตตลอดทั้งซีเควนส์หรือทั้งเรื่องมีคำอธิบายภาพ ประกอบ เสียงต่าง ๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงประกอบฉาก และเสียงพูด เป็นต้น ใช้เป็นแนวทางสำหรับการถ่ายทำ หรือใช้เป็นวิธีการคาดคะเนภาพล่วงหน้า (pre-visualizing) ก่อนการถ่ายทำว่า เมื่อถ่ายทำสำเร็จแล้ว หนังจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งบริษัทของ Walt Disney นำมาใช้กับการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนของบริษัทเป็นครั้งแรก โดยเขียนภาพ เหตุการณ์ของแอ็คชั่นเรียงติดต่อกันบนบอร์ด เพื่อให้คนดูเข้าใจและมองเห็นเรื่องราวล่วงหน้าได้ก่อนลงมือเขียนภาพ ส่วนใหญ่บทภาพจะมีเลขที่ลำดับช็อตกำกับไว้ คำบรรยายเหตุการณ์ มุมกล้อง และอาจมีเสียงประกอบด้วย
                                                วิธีการเขียน Storyboard